Sunday, October 24, 2010

รถบ้าน กับ รถเต๊นท์


การซื้อขายรถมือสอง หลัก ๆ แล้ว จะมีการซื้อขายอยู่ 2 ประเภท
         1. รถบ้าน คือรถที่เจ้าของขายเอง หรือ ซื้อขายโดยตรงกับผู้ใช้รถ
         2. รถเต็นท์ คือการซื้อขายกันเป็นธุรกิจ การซื้อขายรถผ่านคนกลาง หรือ ไม่ใช่โดยตรงกับผู้ใช้รถ
รถบ้านคืออะไร
         คือการซื้อขายโดยตรงกับผู้ใช้รถ หรือ รถที่เจ้าของขายเอง ซึ่งรถบ้านจะมีข้อดีก็คือ การซื้อขายจะได้คุยกับเจ้าของรถโดยตรงและรู้ว่ารถเป็นอย่างไร ขับมาเป็นอย่างไร ปัญหาที่เกิดขึ้น และอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อได้ข้อมูลที่ชัดเจนและตรงกว่า คนส่วนใหญ่จึงมีทัศนคติ ที่ดีต่อรถบ้าน ทั้งด้านราคา และสภาพ คิดว่าไม่ผ่านนายหน้า ราคาก็คงไม่แพง ( หารู้ไม่ว่าเจ้าของรถบางคนอาจตั้งราคาตามหน้าเต๊นท์ก็เป็นได้ ) ส่วนข้อเสียของรถบ้าน ก็มีอยู่ เช่นกัน ก็คือ จะเป็นการขายตามสภาพ การซื้อขายไม่มีการรับประกันคุณภาพ และส่วนมากการซื้อขายแบบนี้ต้องใช้เวลานาน เหมาะกับคนไม่รีบร้อนซื้อ ไม่รีบร้อนขาย
         เพราะการซื้อขายรถบ้านนั้น หากซื้อด้วยเงินสด ก็ไม่มีปัญหายุ่งยากอะไร ต่างกับ ถ้าเป็นการซื้อรถด้วยเงินผ่อน จะต้องติดต่อสถาบันการเงินเอง จ่ายเงินดาวน์กับเจ้าของรถเดิม และยื่นเอกสารเพื่อตรวจสอบ ฐานะทางการเงิน ถ้าฐานะการเงินเพียงพอ ก็ต้องนำรถไปโอนเป็นชื่อสถาบันการเงิน และต้องใช้เวลากว่า 10 วัน กว่าเรื่องจะอนุมัติและได้รับเช็คในส่วนที่ขอกู้ หลังจากตกลงซื้อขาย เจ้าของรถเดิมก็ไม่อยากวุ่นวาย จึงต้องทำสัญญาอย่างรัดกุม เพราะเคยมีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีการเซ็นเอกสารโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงินส่วนที่เหลือ การซื้อรถบ้าน จึงมักนิยมการซื้อด้วยเงินสดมากกว่า
รถเต็นท์คืออะไร
         คือการซื้อขายผ่านคนกลาง หรือรถมือสองที่ขายโดยผู้ค้า มีสถานที่ซื้อขายเป็นหลักแหล่ง สมัยก่อนจะตั้งอยู่ริมถนนมีเต๊นท์ผ้าใบขนาดใหญ่กางอยู่ให้รถจอด จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก “ รถเต๊นท์ “ หรือเต๊นท์รถมือสอง ปัจจุบันเป็นห้องแถวหรืออาคารพาณิชย์แต่ก็ยังใช้คำว่า เต็นท์ เหมือนกัน ส่วนใหญ่ เต็นท์ ที่มีการรับซื้อรถเข้ามา และขายออกไป จะมีการบริการหรือดำเนินการในการซื้อเงินผ่อน มีทั้งการใช้เงินส่วนตัวปล่อยกู้ หรือ อำนวยความสะดวกโดยติดต่อสถาบันการเงินให้ จ่ายเงินดาวน์ เซ็นเอกสาร และขับรถออกมาได้เลย ไม่ต้องรอการดำเนินเรื่องให้เสร็จทุกขั้นตอน นับเป็นการบริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับคนที่จะซื้อรถมือสองด้วยเงินผ่อนเป็นอย่างมาก
ซื้อรถมือสองต้องปรับสภาพ ?
         เต็นท์มีการปรับสภาพรถก็จริง แต่มักเป็นการทำโดยผิวเผินอย่าง หยาบๆ หรือน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อให้ผู้ซื้อดูดี แต่เสียค่าใช้จ่ายในการปรับสภาพน้อยที่สุด
         ส่วนรถบ้าน ถ้าส่วนที่เสียหรือกำลังจะเสีย ไม่เป็นที่สังเกตเห็น จนน่าเกลียดหรือขับแล้วรู้เลย ก็มักจะไม่เสียเงินซ่อมก่อนขาย ปล่อย ให้เป็นภาระแก่ผู้ซื้อ หรือแม้แต่มีส่วนที่เสียที่ชัดเจน ก็มักจะใช้วิธีลดราคาให้ผู้ซื้อไปซ่อมเอง
         ไม่จะซื้อรถเต็นท์ ที่จอดอยู่ไม่รู้กี่วัน หรือซื้อรถบ้านจากเจ้าของโดยตรงที่ใช้งานเป็นปกติอยู่ แต่ในเมื่อเป็นรถใช้แล้ว ก็ไม่ทราบว่าจะมีอะไรใกล้หมดสภาพในอีกไม่นาน โดยส่วนใหญ่รถมือสองที่แม้ผู้ขายจะบอกว่ามีสภาพพร้อมใช้ แค่เติมน้ำมันแล้วก็ขับได้เลย หลังซื้อมาก็ควรจะตรวจสอบหรือปรับสภาพเพื่อให้ใช้งานได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
          ระยะทางบนหน้าปัดหรือเรียกกันว่าเลขไมล์ (ทั้งที่หน่วยเป็นกิโลเมตร) ผู้ขายโดยเฉพาะเต็นท์มักจะเขี่ยหรือปรับลดไมล์เพื่อให้ดูเป็นรถใช้น้อย สามารถเพิ่มราคาหรือเพิ่มความน่าสนใจขึ้นได้ และปัจจุบันนี้ไม่ใช่เฉพาะเต็นท์เท่านั้นที่ทำอย่างนี้ เจ้าของรถบ้านที่รู้มากหลายคนก็ทำเช่นกัน เพราะมีประกาศรับบริการในราคาไม่แพงตามนิตยสารรถรายสัปดาห์ทั่วไป
         ถ้าเป็นคันที่ถูกปรับลดเลขระยะทางบนหน้าปัดลงไปโดยผู้ซื้อไม่ทราบ นับว่าน่ากังวล เช่น ระยะทางที่ใช้จริง 100,000 กิโลเมตรซึ่งต้องเปลี่ยนสายพานไทม์มิงแล้ว แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนแล้วถูกลดเลขบนหน้าปัดเหลือ 80,000 กิโลเมตร อย่างนี้ก็เสี่ยงมากกับสายพานที่จะขาด หากใช้ต่อไปอีก 20,000 กิโลเมตร
         ระยะทางที่แท้จริงของรถที่ถูกลดเลขไมล์ สามารถทราบได้ยาก นอกจากจะบังเอิญว่า รถคันนั้นเข้าศูนย์บริการเป็นประจำและสมุดคู่มือยังอยู่ ก็สามารถโทรศัพท์เข้าไปสอบถามที่ศูนย์บริการนั้นได้ว่า เคยซ่อมอะไรมาบ้าง และระยะทางล่าสุดเท่าไรเมื่อไร
         ขัดสี รถที่ผ่านการใช้งานมา แม้จะได้รับการดูแลรักษาที่ดี แต่ก็ต้องมีคราบสกปรกเกาะบ้างไม่มากก็น้อย จึงไม่ใช่แค่ขัดเคลือบด้วยตัวเอง แต่ แนะนำให้เข้าอู่สีให้ขัดสีใหม่ทั้งคัน เอาคราบไคลสกปรกออกแล้วเคลือบ น้ำยา ด้วยค่าใช้จ่ายประมาณ 500 บาท แล้วค่อยนำกลับมาเคลือบเงาเองด้วยน้ำยากระป๋องละไม่กี่ร้อยบาท
         เปลี่ยนของเหลว ของเหลวทุกชนิด ยกเว้นน้ำกลั่น+น้ำกรดในแบตเตอรี่ และน้ำฉีดกระจก ควรเปลี่ยน น้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ น้ำมันเบรก น้ำมันคลัตช์ น้ำหม้อน้ำ
         สารพัดไส้กรอง ไส้กรองอากาศที่จะมีผลต่อการหายใจเข้าของเครื่องยนต์, ไส้กรอง น้ำมันเครื่องต้องเปลี่ยนพร้อมน้ำมันเครื่องอยู่แล้ว, ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อการไหลของน้ำมันที่คล่องตัว
         สายพานต่างๆ ถ้าจะตัดปัญหาก็ควรเปลี่ยนให้ครบทั้งสายพานนอกเครื่อง และสายพานไทม์มิง (ถ้ามี) หากสายพานเดิมมีสภาพยังดี ก็ใส่ถุงเก็บสำรอง ไว้ท้ายรถเพื่อเป็นอะไหล่เมื่อเดินทางไกล
         ยางแท่นเครื่องแท่นเกียร์ ถ้าร้าวหรือขาด ให้เปลี่ยนใหม่ ส่วนจะเป็นของใหม่แท้จากศูนย์บริการ ของเทียบใช้หรือของเชียงกงก็ตามสะดวก สำหรับรถญี่ปุ่น ยาง แท่นเครื่องเชียงกงที่มีสภาพดีๆ ก็น่าสนใจ เพราะมีราคาถูกมาก แต่ใช้งานได้ดีอีกนานพอสมควร
         ท่อยางหม้อน้ำ ถ้าดูที่ยางที่ติดรถมาแล้วมีสภาพไม่น่าไว้ใจ เริ่มแข็งกรอบหรือร้าว ก็สามารถเปลี่ยนใหม่ได้ในราคาไม่แพง สำหรับของเทียบคุณภาพดี แล้วเก็บของเดิมไว้ท้ายรถเพื่อเป็นอะไหล่เมื่อเดินทางไกล
         ระบบเบรกและผ้าเบรก รถแล่นได้ ก็ต้องหยุดได้ดีและปลอดภัย ในการเปลี่ยนน้ำมันเบรก ต้องไล่น้ำมันเก่าออกจากลูกสูบเบรกที่ทุกล้อ ให้ตรวจสอบการรั่วซึมของ ลูกยางเบรก สายอ่อนเบรก และการเปื่อยขาดของยางกันฝุ่น ผ้าเบรกใกล้หมดหรือยัง ถ้าบางแล้วก็ควรเปลี่ยน โดยสามารถเลือกได้หลายยี่ห้ออย่างรอบคอบ ไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าเบรกแท้จากศูนย์บริการ
         ระบบช่วงล่าง เป็นปัญหาที่พบบ่อยในรถมือสองทั่วไป ช่วงล่างมีเสียงดัง แข็งกระด้าง หรือยวบยาบ ถ้าไม่ได้สนใจจุดนี้เป็นพิเศษ ก็แค่ทดลองขับดูว่ามีเสียงรบกวนไหมและการทรงตัวดีหรือไม่ แต่ถ้าอยากใช้งานให้สมบูรณ์จริงๆ ควรตรวจสอบอย่างละเอียด ทั้งแบบถอดล้อขึ้นแม่แรง โยกชิ้นส่วนดู หรือถอดออกมาจากรถเพื่อตรวจสภาพอย่างละเอียด หากเป็นรถญี่ปุ่นรุ่นที่มีอะไหล่เชียงกงในราคาไม่แพง หลายชิ้นอาจตัดปัญหาโดยซื้อเปลี่ยนยกชุดเลยก็เป็นได้
 ราคาของปีกนก โช้คอัพและอะไหล่ปลีกย่อยของรถญี่ปุ่นบางรุ่น มีราคาของเชียงกงรวมแถวๆ หนึ่งหมื่นบาทเท่านั้น เปลี่ยนแล้วแม้จะขับแล้วไม่เหมือนรถใหม่ 100%แต่ก็ดีขึ้นเยอะและใช้งานต่อไปได้อีกนาน
         การตัดสินใจเปลี่ยนชิ้นส่วนของช่วงล่างแบบยกชุดหรือไม่ ขึ้นอยู่ กับสภาพของชิ้นส่วนเดิมและราคาของชิ้นส่วนใหม่ หากไม่แพงก็ยกชุด ไปเลย หากแพงก็ตัดสินใจจากสภาพของชิ้นส่วนเดิมอย่างรอบคอบ
         เพลา และยางหุ้มเพลา รถขับเคลื่อนล้อหน้ามีเพลาขับ 1 แท่ง ( 4 หัวเพลา)เลี้ยววงแคบ แล้วมีเสียงดังก็อกๆๆ หรือไม่ ถ้ามีเสียงดังต้องเปลี่ยนเพลา จะเลือกของแท้จากศูนย์บริการ เทียบใช้เฉพาะตัวหัวเพลา หรือของเชียงกงก็ตามสะดวก ถ้ายางหุ้มเพลาขาด ต้องถอดมาทำความสะอาด เปลี่ยนยางหุ้มเพลาพร้อมจารบีใหม่ ยางหุ้มเพลาของเทียบใช้อันละไม่กี่ร้อยบาง บางยี่ห้อก็น่าใช้ เพราะทนทานคุ้มค่ากับราคา
          ตู้แอร์ ดูว่าลมแรงและมีกลิ่นหรือไม่ หากไม่แน่ใจว่าสกปรกหรือไม่ ล้างตู้แอร์ไปเลยก็ดี เพราะเกี่ยวข้องกับความสะอาดของอากาศที่จะหายใจเข้าไป
          เบาะและพรม ทำความสะอาดเองได้ไม่ยาก โดยใช้โฟมสเปรย์ฉีดแล้วใช้ผ้าสะอาดเช็ดโฟมและคราบสกปรกออก แต่ถ้าไม่อยากทำเอง ก็สามารถเข้ารับบริการได้ตามคาร์แคร์ทั่วไป
          ฟิล์มกรองแสง ดูสภาพทั้งความใสและฟองอากาศของฟิล์มกรองแสงเดิมที่ติดอยู่ (ถ้ามี) การเปลี่ยนฟิล์มกรองแสงใหม่ ต้องเสียเงินหลายพันบาทก็จริง แต่การขับรถที่มีฟิล์มฯ มัว ก็ไม่ปลอดภัยและขาดความสวยงาม
          ลดค่าใช้จ่ายในการปรับสภาพ ถ้าสะดวก มีความรู้เรื่องรถพอสมควรและมีอู่ที่ยินดีให้ซื้ออะไหล่ ไปเองได้ ก็สามารถแวะไปร้านอะไหล่ตามห้องแถวทั่วไป หรือเชียงกง เพื่อซื้ออะไหล่ หรือถ้าไม่สะดวกซื้ออะไหล่เอง ก็สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายโดยการเลือกซื้ออะไหล่อย่างรอบคอบว่า ชิ้นใดควรซื้ออะไหล่แท้ เทียบ เทียม หรือเชียงกง ความรู้ที่เล่าสู่กันฟังนี้ อาจดูเหมือนยุ่งยากในทางปฏิบัติ แต่โดยทั่วไปหลังซื้อรถมือสองมาแล้ว ก็ใช้ไปซ่อมไป อะไรเสีย ก็ถึงจะซ่อม อย่างมากก็เปลี่ยนแค่น้ำมันเครื่องเท่านั้น หลังที่ได้อ่านเกร็ดความรู้ข้างต้นแล้ว ลองพิจารณาดูว่าอะไรสะดวกที่จะทำ เพราะหากยอมเสียเงินเสียเวลาในครั้งเดียว แล้วก็จะใช้งานได้อย่างสบายใจมากขึ้น
          รถบ้าน หรือ รถเต็นท์ นั้นไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจเลือกซื้อรถ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ควรศึกษารถ ก่อนซื้อ รวมถึงราคาว่า สมเหตุสมผลหรือไม่
ขอบคุณที่มา www.unseencar.com


วิธีการเลือกซื้อรถมือสอง


วิธีการเลือกซื้อรถมือสอง
          รถยนต์มือสองเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ที่ต้องการซื้อรถ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้แต่เนื่องจาก การ ซื้อรถมือสอง มีความเสี่ยงที่สูงว่าจะได้รถที่ดีจริงตามที่โฆษณาหรือไม่นั้น ทำให้หลายคนยอมที่จะซื้อรถป้ายแดงเพื่อ ความสบายใจ วันนี้ ผมจะมาแนะนำวิธีการเลือกซื้อรถมือสอง อย่างง่ายๆ เผื่อเวลาเพื่อนๆไปดูรถ จะได้พอจะ ดูได้ว่ารถคันนี้ดีจริงหรือไม่ครับ
          เริ่มแรก ในการซื้อรถ ผู้ซื้อรถ ควรจะกำหนดงบประมาณ และ รุ่นที่ตนเองต้องการไว้ก่อน จากนั้นเมื่อได้รุ่นที่ตนเองต้องการแล้ว ให้ไปดูรถที่เต็นท์รถก่อน ตรงนี้ผมไม่ได้แนะนำให้ซื้อที่เต็นท์นะครับ แต่เต็นท์รถ จะเป็นแหล่งความรู้พื้นฐานที่ดีสำหรับผู้ซื้อรถครับ สิ่งที่ผมต้องการให้ดูคือ “ เครื่องยนต์ ” ครับ เพราะโดยพื้นฐานแล้ว ผู้ซื้อรถส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่า รถรุ่นไหน มีเครื่องยนต์รุ่นไหน ดังนั้นเวลาดูพยายามจำ เครื่องยนต์ ให้ได้ก่อนครับ เพื่อที่เวลาซื้อจริงๆ จะได้ไม่โดนรถที่เปลี่ยนเครื่องยนต์มา นอกจากนั้น ก็พยายามถามราคาและจำอุปกรณ์เสริมต่างๆด้วยก็ดีครับ ลองเปรียบเทียบสัก 2-3 คัน คุณก็จะได้ข้อมูลตรงส่วนนี้แล้วครับ
          ขั้นที่สอง เริ่มหารถที่ต้องการ โดยส่วนใหญ่แล้ว ราคารถบ้านจะถูกกว่ารถเต็นท์ แต่บางคันก็ไม่ใช่ เนื่องจาก ราคารถเต็นท์ มักจะอิงจากราคากลาง บวก กำไร แต่ราคารถบ้าน มักจะตั้งตามความต้องการของผู้ขาย ดังนั้นเวลาหารถ ให้พิจารณาราคาประกอบด้วยครับ พยายามหาจากหลายๆแหล่งเช่น จากเต็นท์รถ , หนังสือรถ หรือรถที่ประกาศขายตามเวบไซค์ต่างๆ เช่น cars2hand.com ถึงตรงนี้คุณจะได้รถที่เป็นตัวเลือกไว้แล้วครับ
          ขั้นที่สาม ไปดูรถ เวลาไปดูรถ ถ้าเป็นคุณผู้หญิงแนะนำว่าไม่ควรไปเพียงคนเดียวครับ และสถานที่ดูนั้น ควรจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยด้วยนะครับ ส่วนวิธีการดูรถแบบง่ายๆ ก็มีขั้นตอนดังนี้ครับ
1.ดูเครื่องยนต์และอุปกรณ์เสริมต่างๆ เปรียบเทียบ กับข้อมูลที่คุณมีครับ ถ้าไม่ตรงกันก็ลองถามผู้ขายดู ถ้าไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนก็ไม่ควรซื้อครับ
2.รถบางคันก็จะติดเครื่องเสียงมาใหม่ และมักจะอ้างราคาเครื่องเสียง เพื่อเพิ่มราคารถ ตรงนี้ต้องพิจารณาให้เองว่า คุ้มหรือเปล่า เช่น ติดมา 1 แสน จะมาบวก 1 แสนก็เกินไปครับ
3.ดูใต้ท้องรถครับ เช่น คัดซี มีการตัดต่อหรือเปล่า ยางหุ้มต่างๆ และรอยน้ำมันที่อาจจะรั่วหรือซึม ครับ ปกติ ใต้ท้องรถนี่อาจจะไม่ค่อยได้ดูกัน เพราะไม่สะดวก วิธีง่ายๆอีกอย่างคือ ดูสถานที่ที่รถจอดว่ามีรอยน้ำ หรือ น้ำมัน ที่พื้นหรือเปล่าครับ
4.ดูว่ารถเคยเกิดอุบัติเหตุมาหรือไม่ วิธีดูก็ใช้หลักง่ายๆครับ คือ “ ดูที่ตะเข็บ ” ครับ รถที่ออกจากโรงงานรอยตะเข็บต่างๆจะดูเป็นระเบียบ แต่ถ้าชนมา และมีการซ่อม รอยตะเข็บจะดูไม่เรียบร้อย สามารถดูรูปประกอบได้ครับ
       โดยบริเวณที่รถมักจะชนคือ
ด้านหน้า เปิดฝากระโปง หน้า แล้วดูรอยตะเข็บ ตามแนว ขอบรถด้านข้าง ตามลักษณะการชนคือ
1.ชนมุม รอยตะเข็บที่มุม จะไม่เรียบร้อย
2.ชนตรงๆ รอยตะเข็บที่มุมทั้ง 2 ฝั่ง จะไม่เรียบร้อย
3.ชนด้านข้าง ให้ดูรอยตะเข็บด้านข้าง จะไม่เรียบร้อย
4.ถ้าชนหนักจนยุบมาถึงห้องเครื่อง ให้ดูรอยตะเข็บตามรูป จะไม่เรียบร้อย
5.ถ้าชนไม่แรง ให้สังเกตุกันชน จะไม่พอดีการโครงรถ เช่น มีช่องว่างเกิดขึ้น




ด้านหลัง เปิดกระโปงหลัง และเปิดผ้าคลุมขึ้น แล้วดูรอยตะเข็บที่เรียกว่า “ รอยแปรงปัด ”
วิธีการดูการเหมือนกับด้านหน้า ทุกอย่าง แต่ถ้าชนหนัก ให้ดูที่รอยแปรงปัด ครับจะไม่เป็นระเบียบ
ด้านข้าง ทั้ง 2 ฝั่ง เปิดประตูออก ให้หมด แล้วดูความเรียบร้อยของโครงสร้างครับ
โดยปกติจะดูยากครับ เพราะจะไม่มีรอยตะเข็บให้ดู ถ้าไม่แรงมาก ความเสียหายมักจะไม่ถึงตัวโครงรถ จะเสียหายเพียงประตู สำหรับความคิดของผม ถือว่า ไม่เป็นเรื่องใหญ่ครับ แต่ถ้าต้องการดูก็ลองดูรอยตะเข็บบริเวณขอบประตูและตัวบานพับครับ
หลังคา (เกิดจากการพลิกคว่ำ) เปิดประตูออกแล้วดูรอยตะเข็บ บริเวณ คานหน้ารถ เพราะปกติ ถ้ารถพลิกคว่ำแล้ว มักจะยุบบริเวณคานหน้ารถ
5.ทดลองขับครับ ส่วนที่ต้องดูคือ
1.ลองขับแล้วปล่อยพวงมาลัยดูว่ามีการกิน ซ้าย หรือ ขวา หรือเปล่า ถ้ามีลองเข้าศูนย์ ตรวจสอบดู เพราะอาจจะเกิดการชนแล้วทำให้ศูนย์เสียได้
2.ดูว่าเครื่องมีปัญหาหรือเปล่า หลัก ง่ายๆ คือ ไม่ควรสั่น , เดินเรียบ และควันที่ออก ไม่ควรดำ (สำหรับรถดีเซล) หรือ ขาว (สำหรับรถเบนซิล)
3.สังเกตเกียร์ ถ้าเกียร์ Auto เวลาเปลี่ยนมีการกระตุก หรือเปล่า ส่วนเกียร์ ธรรมดา ให้ลองว่า เข้าเกียร์ยากหรือเปล่า
4.สังเกตระบบปรับอากาศว่า ใช้งานได้ดีหรือเปล่า
5.ระบบไฟต่างๆ เช่น ไฟเลี้ยว ไฟเบรก ไฟหน้า ไฟหลัง และไฟในห้องโดยสาร
6.เบาะนั่งทุกตัว โยก หรือเปล่า
7.เข็มขัดนิรภัย ยังใช้ได้หรือเปล่า โดยการดึงแรงๆ ถ้าดึงแล้วติด ถือว่าใช้ได้
          ขั้นสุดท้ายจ่ายเงิน โอนรถ ไม่ควรใช้วิธีโอนลอย คือ จ่ายเงิน แล้วก็จบ ไม่ไปโอนเปลี่ยนชื่อเจ้าของรถ สละเวลาเพียงครึ่งวัน หรือให้บริษัทที่รับโอนแทน จัดการ เพื่อความถูกต้องและไม่เกิดปัญหาทีหลังครับ
          จบแล้วครับ สำหรับการเลือกซื้อรถมือสองแบบง่ายๆ หวังว่าบทความนี้คงมีประโยชน์ ไม่มากก็น้อยนะครับ


ที่มา www.cars2hand.com/knowledge/005_02.php


วิธีการเลือกซื้อรถบ้าน รถมือสอง


รถบ้าน ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่ารถยนต์คือสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเพื่อความสะดวกสบายหรือเพื่อการทำธุรกิจ ครั้นจะซื้อรถใหม่ป้ายแดงคันโก้ บางทีมันก็อาจจะไม่สมเหตุสมผลกับทุนทรัพย์เรานัก โดยเฉพาะถ้าเป็นรถคันแรก เราอาจจะใช้อย่างคุ้มค่าสมบุกสมบัน ทนมือทนเท้าสักหน่อย ถ้าจะเป็นรถใหม่ใจมันก็ไม่ถึง อย่ากระนั้นเลยลองมามองหารถใช้แล้วเสียก่อนดีกว่า เอาล่ะครับเมื่อตกลงปลงใจได้อย่างนี้แล้ว เราจะมีวิธีการดูรถมือสองอย่างไร ถึงจะได้รถดีๆ มาใช้ เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่จะต้องดูต้องพิจารณาให้อย่างละเอียด ก็มันไม่เสร็จสรรพง่ายดายเหมือนรถใหม่นี่นา นี่เป็นข้อแนะนำในการดูรถมือสอง ข้อมูลเกี่ยวกับเทคนิคในการซื้อรถมือสอง และวิธีตรวจสอบรถแบบที่ท่านสามารถดูเองได้ครับ
โครงสร้างของรถ ก่อนที่ท่านจะซื้อรถมือสอง ให้ดูสภาพของโครงสร้างภายนอกของตัวรถก่อน จากด้านหน้าไป จรดด้านท้ายรถ สังเกตตามตะเข็บรอยต่อของหลังคา ขอบกระจกหน้า-หลัง จากนั้นเปิดฝากระโปรงหน้าดูที่คานหม้อน้ำทั้งด้านบนและด้านล่าง ขายึดกันชนที่ต่อเชื่อมมาจากแชสซีส์ ดูตะเข็บรอยต่อภายในห้องเครื่อง ให้สังเกตดูว่ามีร่องรอยของความเสียหายหรือไม่ เพราะรถที่ถูกชนอย่างหนักพวกรอยเชื่อมหลังจากซ่อมมาแล้ว มักจะไม่เหมือนกับที่มาจากโรงงาน อันนี้คงต้องใช้การสังเกตดูหลาย ๆ คันมาเปรียบเทียบกัน และรถที่ถูกชนมาหนักพวกนี้เวลาที่ใช้งานไปนาน ๆ มักจะพบปัญหาตามมา และในบางครั้งศูนย์ของรถอาจจะคลาดเคลื่อนมากจนเกินที่จะแก้ไขได้ด้วย แต่ถ้าหากมีร่องรอยบ้างไม่มากนัก ก็แสดงว่ารถคันนี้มีการซ่อมแซมจากการชนมาบ้างแล้ว แต่ไม่หนักหนา หรือถ้าไม่พบเลยก็จะเป็นอันดีที่สุด การดูด้านหลังก็ให้ดูเหมือนด้านหน้า แต่โครงสร้างส่วนหลังนี้มีความสำคัญน้อยกว่าส่วนหน้า ถ้าจะให้เปรียบเทียบโครงสร้างของรถกับโครงสร้าง ของคน ก็คงจะเปรียบได้กับกระดูกที่เป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้ร่างกายของเราสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ เช่น ถ้าเขาเกิดอุบัติเหตุขาหัก ก็จะทำให้เดินกะเผลกเสียศูนย์ เดินแล้วไม่ปกติ เป็น ต้น ซึ่งก็เหมือนกับรถยนต์ หากเสียศูนย์ จนไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว เมื่อเบรกอย่างกะทันหันรถก็อาจหมุนได้ หรือขณะขับขี่ผ่านถนนที่มีน้ำท่วมขังรถก็อาจลื่นไถลได้ง่ายแม้จะไม่ได้เบรกก็ตาม
โครงสร้างของรถยนต์นั้นหลายส่วนสามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ และก็มีบางส่วนที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ หรือถ้าจะเปลี่ยนก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากสลับซ้บซ้อนมากจนไม่มีใครนิยมทำกัน อย่างบังโคลนหน้า ฝาประโปรง ประตู สามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่แทนได้ในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุมา ส่วนแก้มหลังที่ต่อกับเสาหลังรถหรือเฟรมตัวถังกับเสาประตู เป็นชิ้นส่วนที่ไม่นิยม เปลี่ยนกัน ด้วยขั้นตอนความยุ่งยากและความแข็งแรงของส่วนนั้นที่จะลดลงหลังจากทำการซ่อมไปแล้ว จึงไม่เป็นที่นิยมของอู่จนพอจะเรียกได้ว่าเป็นชิ้นส่วนที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ จึงควรจะต้องดูที่บริเวณนี้ให้ดี รถบ้าน

ที่มา www.dayaq.com/วิธีการเลือกซื้อรถบ้าน/


การเลือกซื้อรถมือสอง

การเลือกซื้อรถมือสอง
การเลือกซื้อรถ
1. ดูลักษณะการใช้งาน เพื่อเลือกประเภทรถที่จะซื้อ
ตั้งงบประมาณ
3. เช็คราคารถ โดยเลือกรถจากองค์ประกอบของ 1 และ 2
4. ศึกษาข้อมูลต่างๆของรถรุ่นนั้นๆ เพื่อที่จะได้ตัดสินใจในการซื้อ ทั้งเรื่องการดูแลรักษา อะไหล่ อัตราการสิ้นเปลือง
5. หาแหล่งที่จะซื้อรถ ซึ่งมีทั้งรถบ้าน และรถเต็นท์ โดยดูทั้งจากสื่อต่างๆ สิ่งพิมพ์ อินเตอร์เน็ต
6. ศึกษาวิธีการดูรถ หรือถ้าจะไปดูรถควรให้ผู้ชำนาญไปช่วยดู
7. เช็คเอกสารต่าง ๆ ให้พร้อมที่จะทำการโอนกรรมสิทธิ์

การตรวจสอบรถบ้านเบื้องต้น 
มีผู้ซื้อบางท่านที่ต้องการซื้อรถบ้านที่เจ้าของขายเอง ซึ่งผู้ซื้อสามารถตรวจสอบด้วยตนเองเบื้องต้นได้ง่ายๆ เช่น ขอดูเอกสารการครอบครอง (เล่มทะเบียน ) ควบคู่กับ บัตรที่ทางราชการออกให้ตัวจริง (บัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่ ฯ ) ดูว่าชื่อตรงกัน หรือไม่ มีการครองครอง เกิน 4 เดือน
หากผู้ขายมีการโอนลอยไว้ก่อน แต่ผู้ขายมีชื่อสกุลเดียวกัน หรือมีความเกี่ยวข้องกับผู้ครอบครองคนสุดท้าย ก็ถือได้ว่า เป็นรถบ้านเจ้าของขายเองเช่นกัน
การตรวจสภาพรถเบื้องต้นด้วยตนเอง
1.ภายนอก
1.1 ดูโครงสร้างของรถโดยรวม ได้สัดส่วนที่ควรจะเป็นหรือไม่มีการบิดเบี้ยวคดงอจากการเกิดอุบัติเหตุ
1.2 รถที่ผ่านการเกิดอุบัติเหตุและนำมาซ่อม อาจสังเกตได้ หลายๆวิธี เช่นลองเคาะที่ส่วนตัวถังรอบๆคันโดยการฟังเสียงว่ามีความโปร่งใสเท่ากันหรือไม่ ส่วนที่เคยทำสีจะมีเสียงทึบๆ แต่ถ้ามีการเปลี่ยนทั้งชิ้นวิธีนี้คงจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร
1.3 เช็คตามขอบกระจกขอบประตู ว่ามีการบิดงอหรือไม่ รวมถึงส่วนที่เป็นขอบยางต่าง ๆ
1.4 ดูสีรถว่าตรงกับสมุดทะเบียนหรือไม่ อาจมีปัญหาในการโอนได้
1.5 ช่วงล่าง เช็คว่ามีสนิมหรือผุบ้างไหมถ้ามีรถคันนั้นถ้านำไปใช้ ช่วงล่างน่าจะมีปัญหา
2.ภายใน
2.1 ตรวจสอบอุปกรณ์ภายในรถว่ายังใช้งานได้ปรกติ
2.2 สังเกตอุปกรณ์ต่างๆว่า ลักษณะที่เป็นเหมาะสมกับการใช้งานหรือเปล่าเช่น ถ้าคันเร่งหรือคลัทช์สึกแต่เลขไมล์น้อย อย่างผิดสังเกต อาจสันนิษฐานได้ว่ามีการกลับเลขไมล์
2.3 เช็คห้องโดยสารภายในโดยดูตามตะเข็บว่า ต่างๆว่าเป็นแนวเรียบหรือไม่ อาจเปิดดูตามพรมถ้าเป็นไปได้
2.4 บริเวณห้องเก็บของท้ายรถ ตรวจดูตามตะเข็บ ต้องมีความสมบูรณ์แนวตะเข็บต้องเรียบเนียน
2.5 ตรวจเช็คยางอะไหล่ และเครื่องมือต่างๆว่ามีครบหรือไม่ทั้ง แม่แรง ประแจต่างๆ
2.6 ระบบแอร์ไม่ควรมีเสียงดังของพัดลมและคอมเพรสเซอร์
3.เครื่องยนต์
3.1 ตัวเครื่องยังเป็นเครื่องเดิมๆหรือไม่ ไม่ควรมีการดัดแปลงเครื่องยนต์
3.2 เมื่อสตาร์ทรถ เครื่องต้องเงียบไม่มีเสียงกุกกัก
3.3 เปิดดูเมื่อสตาร์ทรถแล้วมีไอของน้ำมันเครื่องหรือไม่ ถ้ามีเครื่องอาจจะหลวมแล้ว
3.4 ต้องไม่มีรอยรั่วของน้ำและน้ำมันในจุดต่างๆ เช่น หม้อน้ำ น้ำมันหล่อลื่นที่จุดต่างๆ
3.5 เช็คแบตเตอรี่ ถ้าเปิดที่ปัดน้ำฝนแล้วทำงานช้าผิดปกติ หมายถึงแบตเตอรี่เริ่มเสื่อม
4.ทดลองขับ
4.1 ระดับความร้อนจากมาตรวัดไม่ควรร้อนจนเกินไป
4.2 เมื่อใช้ความเร็วต้องไม่มีเสียงลมเข้า
4.3 เมื่อใช้ความเร็วสูงจะต้องไม่มีการโคลงหรือส่าย
4.4 ทดสอบระบบเบรกที่ความเร็วหลายๆระดับ
4.5 ขณะขับขี่เครื่องยนต์ไม่ควรมีเสียงดังจนเกินปรกติ
4.6 เมื่อมีการเปลี่ยนเกียร์ต้อง ไม่มีเสียงดังหรือกระตุก
5.ประวัติ
5.1 ตรวจสอบประวัติจากประกัน หรือ สมุดคู่มือบริการ
5.2 ตรวจสอบหมายเลขเครื่องกับขนส่งโดยว่ารถที่เราสนใจมีปัญหาหรือไม่ ทำให้มั่นใจได้ว่าไม่ใช้รถที่มีการแจ้งความว่าหาย

สิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นในการขอสินเชื่อ
1.สำเนาบัตรประชาชน
2.สำเนาทะเบียนบ้าน
3.หนังสือรับรองการทำงาน จากบริษัท ที่ทำงานอยู่ หรือหนังสือรับรองเงินเดือน
4.สำเนาสมุดบันทึกเงินฝากย้อนหลัง อย่างต่ำ 6 เดือน
5.บุคคลค้ำประกัน พร้อมเอกสารเหมือนผู้ขอสินเชื่อ

หมายเหตุ กรณีที่ต้องขอสินเชื่อ ควรติดต่อบริษัทสินเชื่อ สอบถามและส่งเอกสารประเมินคุณสมบัติของผู้สินเชื่อก่อน เพื่อที่จะได้ทราบว่า จะได้วงเงินสำหรับซื้อรถในช่วงราคาไหน อัตราดอกเบี้ยที่ต้องเสีย ระยะเวลาการผ่อนชำระ ทำให้การซื้อรถที่ถูกใจรวดเร็วขึ้น รถดีราคาถูก คนสนใจจะซื้อมีจำนวนมาก โอกาสที่จะเจอไม่ได้มีบ่อยๆ 

ที่มา www.taladrod.com/w20/Sell/article/artb2.htm


ข้อแนะนำซื้อบ้านมือสอง


ข้อแนะนำซื้อบ้านมือสอง

ซื้อบ้านมือสอง…ต่อรองราคาได้

ซื้อบ้านมือสอง…ต่อรองราคาได้

โดยทั่วไปผู้ซื้อบ้านจะมีการต่อรองราคาเพื่อให้ได้ราคาที่ตนเองพอใจมากที่สุดและในเงื่อนไขที่มีเหตุผล แต่ไม่มีกฎตายตัวในการเสนอราคาซื้อ ตามปกติผู้ซื้อต้องการบ้านที่มีคุณภาพและผู้ขายต้องการราคาที่ดี 

ฉะนั้น การเจรจาต่อรองจึงมีปัจจัยต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นต้นว่า ผู้ขายกำลังเปลี่ยนงานจึงต้องการขาย
โดยเร็วหรือผู้ซื้อต้องการบ้านที่มีลักษณะการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์หลังจากดูบ้านแล้วให้สอบถามเปรียบ-เทียบราคา และปรึกษาพนักงานขายก็จะรู้ราคาบ้านในท้องตลาด สำคัญที่ว่ามีเงินพอไหม แล้วจึงยื่นใบเสนอซื้อในราคาที่ท่านคิดว่าเป็นธรรม 

ทั้ง “ผู้ซื้อ” และ ”ผู้ขาย” มักจะต่อรองเรื่องราคา หากทั้งสองฝ่ายยอมลดเงื่อนไขลงมาก็จะสามารถตกลงทำสัญญาได้ในที่สุด

ถ้าผู้ซื้อและผู้ขายตกลงซื้อขายกันเองโดยไม่ผ่านตัวแทนนั้น ปัญหาอย่างหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอก็คือการเจรจาต่อรอง เพราะทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างฝ่ายก็ไม่ยอมกัน และก็มักจะไม่เกิดการซื้อขายตามมาแต่ถ้ามีตัวแทนเข้ามาและเป็นผู้แทนในการเจรจาต่อรอง ระหว่างและผู้ขายแล้ว ความยืดหยุ่นหนักผ่อนเบาก็จะมีมากขึ้น และก็มักจะลงเอยด้วยความสำเร็จแทบทุกครั้ง

สิ่งแรกที่ผู้ซื้อควรจะปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การต่อรองราคาคือ กำหนดทำเลที่ต้องการซื้อ ประเภทบ้าน ระดับราคา แล้วเลือกข้อมูลออกมา เดินทางไปดูบ้านจริง ต้องลงรายละเอียดเพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกันได้ เมื่อเปรียบ-เทียบได้ ก็ง่ายในการเจรจาต่อรอง เพราะมีเหตุมีผลรองรับ 

อย่าลืมว่า การต่อราคาเพื่อซื้อ หากไม่ต้องการซื้อก็ผ่านเลยไป การไปดูบ้านครั้งแรกยังไม่ต้องต่อรองราคา แต่เป็นการเก็บข้อมูลและสอบถามว่าจะลดให้ได้สักเท่าไหร่ ก็ไม่น่าเกลียดแต่ประการใด

รายละเอียดที่ควรจดจำ ได้แก่ ระยะทางจากถนนใหญ่ หรือซอยใหญ่ของบ้านแต่ละหลังโดยประมาณ,พื้นที่ดิน, พื้นที่ใช้สอยของตัวบ้าน, จำนวนห้องนอน ห้องน้ำและสัดส่วนใช้สอยอื่นๆ, พื้นที่ว่างหน้าบ้านหลังบ้าน, การตกแต่งต่อเติมต่าง ๆ, สภาพหลังคา หน้าต่าง ประตู กันสาดต่าง ๆ สภาพโดยรวม และปัญหาที่พบเห็นรวมทั้งที่อาจจะมีหากมีแผนการตกแต่งต่อเติมหรือตัดออกอย่างไรก็ใส่ไปด้วย

เมื่อลงรายละเอียดเหล่านี้แล้วก็ตามด้วย ราคาเสนอขาย ยิ่งมีรายละเอียดมาก ยิ่งสามารถมีจุดต่อรองราคาได้มากขึ้น

สุดท้ายที่ควรพิจารณาก็คือ ใครเป็นคนขายบ้านหลังนั้น บริษัทนายหน้าขายบ้าน นายหน้าขายบ้านแบบบุคคลหรือเจ้าของขายเอง เพราะมีผลในการต่อรองราคาแตกต่างกัน

ในการเจรจาต่อรองราคาซื้อบ้านพร้อมอยู่ เมื่อมีข้อมูลปูมหลังของบ้านหลังนั้นๆ และสภาพแวดล้อมต่างๆพร้อมมูล ถือได้ว่ามีความพร้อมในการเจรจาต่อรองแล้วขั้นหนึ่ง นั่นคือพิจารณาตามความเหมาะสมของราคาตั้งขายและเมื่อเสริมด้วยการรู้ถึงความจำเป็น ความต้องการของผู้ขายแล้ว จะช่วยให้การเจรจามีความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น

จากนั้นก็ทบทวน จัดอันดับความต้องการ ความจำเป็นของตนเอง ความจำเป็นของผู้ต้องการซื้อบ้านต่อบ้านหลังนั้นที่หมายปอง ทั้งนี้เพื่อจะได้ใช้ประกอบการเจรจาต่อรองอย่างตรงไปตรงมา เป็นการซื้อขายกันอย่างฉันท์มิตร อันจะทำให้ราคาที่พร้อมจะซื้อกับราคาตั้งขายเดินทางมาพบกันได้

บ่อยครั้งที่การซื้อบ้านพร้อมอยู่ อาจจะไม่ต้องต่อรองราคาเลยก็ได้ หากผู้ซื้อพอใจกับสินค้าและราคาตั้งขาย แต่ถ้าอยากต่อรองราคา ให้กำหนดวิธีการเจรจาไว้ให้เลือกหลาย ๆ ทาง ดังนี้ คือ

ทางแรก พอใจทั้งบ้านและราคา แต่ขอต่อรองนิดหน่อย ได้ก็ซื้อไม่ได้ก็ซื้อ ต่อรองนิดหน่อยตรงนี้ ใช้วิธีตัดเศษส่วนเกินออกให้เลือก ตัวเลขกลม ๆ เช่น 1.23 ล้านบาท (หนึ่งล้านสองแสนสามหมื่นบาท) ก็เป็นเรื่องธรรมดามากที่จะต่อเหลือเพียงหนึ่งล้านสองแสนบาทถ้วน การต่อรองนิดหน่อยอาจจะต่อให้ถูกลงสัก 3% บ้านราคา 1.23 ล้านบาท จะต่อรองเหลือ 1.19 ล้านบาท

เมื่อรู้พื้นฐานความต้องการของตนเองอย่างตรงกับข้อเท็จจริงดังกล่าว เวลาจะเจรจาต่อรองก็ง่ายขึ้น เพราะจะรู้จุดมุ่ง-หมายที่จริงแท้ของตนเองว่า ต้องการซื้อมากน้อยเพียงใด เพราะบ้านพร้อมอยู่ที่เสนอขายนั้นผู้ซื้อเป็นฝ่ายเลือกทำเลประเภทและราคา

ในขั้นต้น ก่อนที่จะมีการเจรจากันในขั้นต่อไป ผู้ขายย่อมตระหนักเท่าทันว่า “ผู้ซื้อสนใจ” มิฉะนั้นจะมาต่อรองราคาทำไมให้เสียเวลาอันมีค่า ในขณะเดียวกันผู้ซื้อก็ทันกันว่า เจ้าของต้องการขาย มิฉะนั้นจะมาประกาศขายให้คนเขารู้กันทั่วทำไม 

“ความเหมาะสมของราคา” ว่าไปแล้วก็อยู่ที่ความพึงพอใจร่วมกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย แม้ว่าโดยทั่วไป ราคาเสนอซื้อมักจะต่ำกว่าราคาเสนอขายมาโดยตลอดก็ตาม

การต่อรองราคาในสินค้าที่ผู้ซื้ออยากได้นั้น เป็นจุดสำคัญที่จะต้องทำให้สำเร็จ เพราะอยากได้จึงทำให้การต่อรองราคาไม่เข้มข้น และมักจะไม่กล้าหาญต่อรองราคากับสินค้าที่อยากได้เท่าไหร่ ในที่สุดก็จะเกิดสภาพที่ซื้อสินค้าที่ยังไม่ต้องการใช้ในราคาที่ต่ำแ ละซื้อสินค้าที่ต้องการใช้ในราคาที่สูงเกิน

ข้อแนะนำการซื้อบ้านอีกประการ คือ ควรหาให้ได้ประมาณ 5 หลัง เป็นอย่างน้อย และจัดอันดับให้เรียบร้อยว่าชอบหลังไหนมากกว่า การต่อรองก็ตามความเป็นจริง สภาพตัวบ้านโดยรวม และรายละเอียดเฉพาะจุด รวมไปถึงภาระในการตกแต่ง ซ่อมแซม เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

จากนั้นก็ควรพิจารณาว่าผู้ขายคิดสัดส่วนกำไรเท่าไหร่ เช่น เจ้าของขายเองจะขอกำไรสักสองแสนบาทหลังจากปลดหนี้แบงก์แล้ว หรือขอแค่เสมอตัวกับค่าเสียเวลาสักหมื่นสองหมื่นบาท 

ในกรณีซื้อผ่านนายหน้า ลองโทรศัพท์สอบถามในลักษณะอยากจะเป็นผู้ขายบ้าน โดยเอาข้อมูลของบ้านที่จะซื้อหลังนั้นไปขอใช้บริการจากอีกบริษัทหนึ่งดู ถือว่าเป็นการแสวงหาข้อมูล เพราะแต่ละบริษัทประเมินราคาบ้านและค่าธรรมเนียมการฝากขายต่างกันบ้างเล็กน้อย

ข้อควรจำ ก็คือ ปกติการตั้งราคาขายก็มักจะเผื่อไว้ลดราคาอยู่บ้าง จะเผื่อมากหรือน้อยเท่านั้นเอง 

การหาซื้อบ้านหลายหลังในครั้งเดียว ดูเหมือนจะสร้างความยุ่งยากและเหน็ดเหนื่อยให้กับผู้ซื้อ แต่สำหรับประโยชน์ที่ได้รับมีความคุ้มค่า เพราะการต่อรองราคาบ้านนั้นมีบ้านหลังอื่นไว้เปรียบเทียบอยู่ในใจแล้วต่อรองราคาเมื่อซื้อบ้านมือสอง ต้องมีบ้านไว้เผื่อเลือก ยิ่งต้องการซื้อเร็ว ควรมีให้มากหลังที่เลือกไว้ตั้งแต่ตอนหาข้อมูลและดูตัวบ้าน เพราะจะช่วยเพิ่มโอกาสซื้อบ้านมือสองที่ต้องการได้

หากต่อรองราคาบ้านที่ต้องการซื้อจนได้ราคาที่พอใจแล้ว อย่าประมาท เพราะอาจไม่ได้บ้าน ทั้งนี้ในการซื้อขายนั้น การตกลงด้วยวาจาว่าจะซื้อหรือจะขายนั้นแทบไม่มีความหมายอันใด ถ้าจะเพิ่มความแน่นอนมากขึ้น ต้องทำสัญญาจองวางมัดจำไว้ก่อน 

ประโยชน์ของผู้ซื้อ คือ ระหว่างการนัดทำสัญญาซื้อ-ขายนั้น ผู้ขายไม่มีสิทธิในการไปเสนอขายให้คนอื่น ส่วนผู้ขายได้ประโยชน์ชดเชยกับการไม่นำบ้านหลังนั้นไปเสนอขายอีก ก็คือได้รับเงินล่วงหน้ามาจำนวนหนึ่ง หากผู้ซื้อที่วางเงินจองแล้วไม่มาทำสัญญาซื้อขายผู้ขายมีสิทธิในการยึดเงินดังกล่าว

การวางเงินจองบ้าน หลังการต่อรองราคาเรียบร้อยแล้วจึงเป็นเรื่องจำเป็น ก่อนที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น ๆ แม้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ตลาดบ้านเป็นของผู้ซื้อก็เถอะ อย่าลืมว่าการเจรจาต่อรองราคาทุกครั้งเพิ่มทั้งข้อมูลและความรู้ความชำนาญให้ทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้เสนอขายนายหน้าหรือผู้ต้องการซื้อ

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ขายมืออาชีพ ย่อมสันทัดกรณีในการต่อรองมากกว่า เพราะผ่านงานมามากกว่า แต่สิ่งที่ผู้ซื้อจะมีมากกว่าผู้ขาย ก็คือ ตระหนักแน่ชัดถึงความต้องการและกำลังซื้อของตนที่มีอยู่ เมื่อแน่ใจในระดับราคาที่ต่อรองแล้วอย่าชักช้า ควรทำสัญญากันเลย โดยวางเงินสดจองหรือมัดจำไว้ก่อนพร้อมด้วยการทำสัญญาได้สิทธิการซื้อในระดับ ราคาที่ตกลงกัน เพื่อกันมิให้ผู้ขายปล่อยขายบ้านหลังนั้นให้กับบุคคลอื่น

ผู้ซื้อต้องไม่ลืมว่า การขายนั้นมีจังหวะเวลา ตัวอย่างคือ หากคนขายเป็นพนักงานขายที่ต้องดูแลยอดขายโดยรวม หรือเป้าขายรวม หากใกล้สิ้นเดือนหรือครบเดือนการคำนวณยอดขาย โอกาสที่จะลดราคาบ้านอีกหลังสองหลังเป็นพิเศษเพื่อทำยอดขายรวมให้ได้เกิดขึ้น การต่อรองราคาบ้านก็มีโอกาสได้ราคาที่ถูกลงอีกนิด

นอกจากนี้ การเตรียมพร้อมเพื่อซื้อบ้าน นอกจากมีเงินในกระเป๋าเพื่อการต่อรองอย่างได้ดังใจแล้ว หากได้ ติดต่อขอทราบวงเงินกู้กับทางธนาคารไว้ล่วงหน้าก็จะช่วยให้มีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น ทั้งนี้เพราะมีข้อมูลอยู่ในมือนั่นเอง เพราะสามารถวางแผนช่วงเวลาการกู้เงิน การเข้าอยู่อาศัยต่าง ๆ ได้ เพราะการแสดงความจริงใจที่จะซื้อเช่นนี้ มีส่วนช่วยให้ผู้ขายตัดสินใจได้ง่ายและเร็วขึ้น โดยทั่วไปการรับเงินเร็วขึ้นย่อมเป็นที่พอใจของผู้ขายอยู่แล้ว

ที่มา www.home.co.th/H5_home_data_detail.aspx?S_N_DATA_ID=5055


Twitter Delicious Facebook Digg Favorites More